เสื้อคลุม (Шинель-Overcoat)
Last Updated on Monday, 23 July 2012 08:08 23 July 2012 Published Date
ชื่อ เสื้อคลุม
แปลมาจาก Шинель (The Overcoat)
ผู้เขียน นิโคไล โกกอล (Николай Гогол- Nikolai Gogol)
ผู้แปล ชัยยันต์ รัชชกูล
สำนักพิมพ์ อ่านไทย: 2543, พิมพ์ครั้งที่ 3
เรื่องสั้นเรื่อง เสื้อคลุม ของ นิโคไล โกกอล เป็นการเสียดสีระบบราชการของประเทศรัสเซียในสมัยการปกครองในระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์ภายใต้พระเจ้าซาร์ โกกอลต้องการแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า ในระบบราชการที่มีการแข่งขันสูง และมีการให้ความสำคัญกับอำนาจและทรัพย์สินเงินตรา คนระดับล่าง รวมทั้งข้าราชการที่มีตำแหน่งงานระดับล่างกลับต้องมีความเป็นอยู่อดอยากแร้น แค้น ทั้งยังถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากผู้ที่มีฐานะและตำแหน่งในระดับสูงกว่าอยู่ เป็นนิจ
ตัวละครเอกของเรื่องคือ อคาคี่ อคาคีวิช ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนในกรมกรมหนึ่ง (ซึ่งโกกอลตั้งใจไม่เอ่ยนามออกมา ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่ากรมไหนๆ ก็เหมือนกันหมด) ตำแหน่งเสมียนของเขาเป็นตำแหน่งระดับล่างสุดในกรมที่เขาทำงาน ทั้งยังมีรายได้น้อยที่สุด ถึงขนาดที่ตัวเขาไม่มีเงินพอซื้อเสื้อคลุมตัวใหม่แทนตัวปัจจุบันที่ทั้งบาง และเต็มไปด้วยรอยขาดวิ่น จนเป็นเหตุให้เพื่อนร่วมงานกล่าวเยาะเย้ยล้อเลียนเขาอยู่เสมอ อคาคี่ที่ถูกล้อเลียนก็มิเคยโกรธเคืองใดๆ กลับตั้งใจทำงานเพื่อเก็บเงินซื้อเสื้อคลุมตัวใหม่ได้สำเร็จ แต่แล้วก็ประสบเคราะห์กรรมซ้ำซ้อน ถูกโจรซึ่งเป็นคนยากจนที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศดักทำร้ายและชิงเสื้อคลุมไป ครั้น อคาคี่ไปขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือ บุคคลสำคัญ ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงในรัสเซีย ก็โดนปฏิเสธกลับมาทั้งสิ้น ทำให้อคาคี่ต้องทนเสียใจ กลับไปใช้เสื้อคลุมตัวเก่าที่ขาดวิ่น และป่วยตายในที่สุด ทว่าเหตุการณ์ยังคงดำเนินต่อไปว่า มีผู้พบ ผี ของอคาคี่มาคอยชิงเสื้อคลุมของผู้ที่ผ่านไปมาตามจุดต่างๆ กระทั่ง บุคคลสำคัญ ก็ยังโดนชิงเสื้อคลุมมาแล้ว ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ผีดังกล่าวก็คือ คนยากจนที่เคยทำตัวเป็นขโมยแย่งชิงเสื้อคลุมที่มีอยู่ทั่วไปนั่นเอง
โกกอล สร้างตัวละคร อคาคี่ ให้เป็นตัวแทนของคนชั้นล่างในรัสเซีย ที่ต้องทำงานแลกเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปแต่ละวัน ซึ่งด้วยความที่รายได้ที่ได้นั้นมีน้อยนิด ประกอบกับมีการกดขี่ทางชนชั้นสูง ทำให้ในความเป็นจริง แทบจะไม่มีคนชั้นล่าง รวมไปถึงเจ้าพนักงานราชการระดับล่างที่ได้ขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่ง ขึ้นสู่ระดับที่สูงขึ้น กระนั้น คนจำนวนมากก็ยังใฝ่ฝันที่จะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงตั้งใจทำงานต่อไปราวกับเครื่องจักร บางคนนั้นทำงานมาตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่มสาวจนกระทั่งแก่ชราจวนปลดเกษียณ ก็ยังไม่ได้มีฐานะที่รุ่งเรืองขึ้นกว่าในอดีตเลย เหมือนกับการที่อคาคี่ ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนในกรมมาจนอายุ 60 กว่าปีนั้นยังเป็นข้าราชการยากจนอยู่ และยังฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้น ฝันถึงโอกาสที่จะได้เสื้อคลุมตัวใหม่ที่สภาพดีขึ้น หนาขึ้น อบอุ่นขึ้น แต่ในท้ายที่สุด เสื้อคลุมดังกล่าวก็ต้องมีอันพรากจากอคาคี่ไป แสดงให้เห็นถึงคนชั้นล่างที่ฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร ก็ยังได้แค่ฝันเช่นนั้นต่อไป ไม่มีโอกาสได้พัฒนาชีวิตตนเองแม้แต่น้อย เหตุที่อคาคี่ไปแจ้งความเรื่องเสื้อคลุมถูกขโมยแล้วไม่มีใครช่วยเหลือ กระทั่งตายแล้วยังไม่มีใครใส่ใจสอบถาม จนมารู้กันภายหลังฝังศพไปแล้ว เป็นการเหน็บแนมสังคมที่ไม่ใส่ใจชีวิตของชนชั้นล่าง ซึ่งตามทัศนคติของโกกอลและพวกลัทธิคอมมิวนิสต์ในภายหลังคือ แรงงานสำคัญของชาติ และยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่พอคนระดับใหญ่โตอย่าง บุคคลสำคัญ ถูกขโมยทำร้ายและแย่งชิงเสื้อคลุมเข้า กลับทำให้มีคนหันมาสนใจในปรากฏการณ์ ผีขโมยเสื้อคลุม กันมาก และมีตำรวจออกดูแลมากขึ้น ก็เหมือนกับในชีวิตจริงที่ชนชั้นสูงมีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากกว่าชนชั้น ล่าง ทั้งยังได้รับความสนใจมากกว่าและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า
เหตุการณ์บางเหตุการณ์ในเรื่องก็เป็นสิ่งที่โกกอลต้องการพยากรณ์ให้เห็นว่า จะเกิดในอนาคต หากสังคมยังคงดำรงอยู่เช่นในขณะที่เขาเขียนเรื่องดังกล่าว อาทิ การที่พวกคนยากจนแกล้งทำตัวเป็นผีของอคาคี่คอยแย่งชิงเสื้อคลุมจากคนชั้นสูง ก็เหมือนการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจที่ชนชั้นล่างถูกกดขี่จากชนชั้นสูงมาตลอด ครั้นพอสบโอกาสจึงลงมือในคราวเดียว อย่างในเรื่องคือข่าวการตายของอคาคี่ อคาคีวิช ซึ่งแม้จะไม่เป็นที่ล่วงรู้ของคนชั้นสูงและกระทั่งกับข้าราชการร่วมกรม แต่น่าจะรู้กันดีในหมู่คนยากจน ซึ่งสามารถนำเหตุการณ์อันชมชื่นของชีวิตของอคาคี่มาแสดงในรูปลักษณ์ของ ผี ได้อย่างแนบเนียน แต่เพราะเหตุการณ์ผีขโมยเสื้อคลุมดังกล่าวสร้างความเสียหายในระดับน้อย อีกทั้งผู้มีอำนาจในสังคมออกคำสั่งให้ปราบปรามได้ทัน จึงทำให้การแสดงออกถึงความไม่พอใจของชนชั้นล่างด้วยวิธีดังกล่าวต้องหยุด ชะงักและล้มเลิกไป กระนั้น โกกอลก็ได้ทิ้งคำถามโดยไม่ได้ถามออกมาโดยตรงให้ผู้อ่านไว้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในอนาคต กลุ่มชนชั้นล่างเลือกที่จะใช้วิธีการที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากกว่า เหตุการณ์ในเรื่องเสื้อคลุมนี้ เพื่อเป็นการฝากฝังถึงผู้อ่านทั้ง 2 กลุ่ม นั่นคือ ชนชั้นสูง และชนชั้นล่าง ที่มีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ของเขา
สำหรับชนชั้นสูง โกกอลต้องการเตือนให้พวกเขาใส่ใจกับความเป็นอยู่ของชนชั้นล่างให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือดในภายภาคหน้า
สำหรับชนชั้นล่าง โกกอลกลับสนับสนุนว่า ขอให้ทำอะไรสักอย่างเช่นพวก ผี ในเรื่อง แต่ให้รุนแรงและสร้างความน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า เพื่อให้ประสบผลสำเร็จมากขึ้น
*****ซึ่งท้ายสุดแล้ว คงมีเพียงชนชั้นล่างที่ตีความปริศนาประการสุดท้ายของโกกอลออก แล้วนำไปสู่การก่อการปฏิวัติในปี ค.ศ.1917 ในที่สุด