Sunday, December 10, 2023
   
Text Size

ที่มา

Russian and Commonwealth of Independent States Center of Thammasat University
ศูนย์ศึกษารัสเซียและเครือรัฐเอกราชแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเทศรัสเซียถือเป็นอีกประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรด้านพลังงาน อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ในอนาคตรัสเซียจะคงความเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลเป็นอันมากต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

การพัฒนาพันธมิตรทางการค้ากับประเทศรัสเซียถือเป็นอีกทางเลือกสำคัญสำหรับประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจกว่ากึ่งหนึ่งผูกติดอยู่กับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และกำลังเผชิญกับภาวะอิ่มตัวของประเทศคู่ค้าที่มีอยู่เดิม เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในขณะที่การแข่งขันทางการค้าและการลงทุนในตลาดโลกมีความรุนแรงมากขึ้น การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศรัสเซียจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากรัสเซียเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งจะเปิดประเทศ  ยังไม่มีการอิ่มตัวทางการค้า ดังนั้นโอกาสการเปิดตลาดสำหรับประเทศไทยจึงยังมีอยู่มาก ในระยะสั้น หากไทยสามารถพัฒนาด้านเกษตรกรรม ประเทศรัสเซียคือตลาดขนาดใหญ่ที่จะรองรับสินค้าเกษตรของไทย  นอกจากนั้นประเทศรัสเซียคือแหล่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมที่สำคัญอันน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ด้านการท่องเที่ยว ชาวรัสเซียส่วนใหญ่นิยมการท่องเที่ยวในเขตเมืองร้อน ดังนั้นการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับประเทศรัสเซียจะยังผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย ส่วนในระยะยาวนั้น หากโลกมีการขาดแคลนอาหาร พลังงาน และทรัพยากร ธรรมชาติ เมื่อไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ปัญหาดังกล่าวก็จะไม่กระทบกับทั้งสองประเทศมากนักเนื่องจากสามารถพึ่งพาผ่องถ่ายทรัพยากรระหว่างกันได้ ในด้านการศึกษา ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นมหาอำนาจของรัสเซียเป็นอย่างมาก

การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศรัสเซียยังเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์และเปิดตลาดกับประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราชอีก 11 ประเทศ ซึ่งมีพื้นฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจและสังคมใกล้เคียงกับรัสเซีย เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States - CIS) เป็นกลุ่มประเทศที่สถาปนาขึ้นมาจากอดีตสาธารณรัฐต่างๆ ของประเทศสหภาพโซเวียต 12 สาธารณรัฐ ได้แก่ 1. Azerbaijan Republic 2. Republic of Armenia  3. Republic of Belarus 4. Georgia 5. Republic of Kazakhstan 6. Kyrgyz Republic 7. Republic of Moldova 8. Russian Federation 9. Republic of Tajikistan 10. Turkmenistan 11. Republic of Uzbekistan 12. Ukraine จากทั้งหมด 15 สาธารณรัฐ  (ในจำนวน 15 สาธารณรัฐของอดีตสหภาพโซเวียต มี 3 สาธารณรัฐริมฝั่งทะเลบอลติค (the Baltic States) ที่ไม่เข้าร่วมในเครือรัฐเอกราชคือประเทศ ลิธัวเนีย (Lithuania) ลัตเวีย (Latvia) และเอสโตเนีย (Estonia)

นอกจากประเทศรัสเซียแล้ว ประเทศอื่น ๆ ในเครือรัฐเอกราชอีก 11 ประเทศ จัดได้ว่าเป็นภูมิภาคใหม่ที่เพิ่งจะมีความสัมพันธ์กับประเทศไทย ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของทั้งรัสเซียและเครือรัฐเอกราช และได้ริเริ่มสร้างกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในหลายด้าน  อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวประสบปัญหาหลายประการ ด้วยขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและฐานข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับประเทศรัสเซียและเครือรัฐเอกราช นอกจากนั้น ด้วยประเทศรัสเซียและเครือรัฐเอกราชมีภาษาและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ การพัฒนาความเป็นพันธมิตรกับประเทศเหล่านี้จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการจะเป็นสื่อกลางที่จะนำไปสู่การศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้อย่างถ่องแท้

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญข้างต้น โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษารัสเซียและเครือรัฐเอกราชจึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเร่งสร้างองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศรัสเซียและเครือรัฐเอกราชอย่างถ่องแท้ โดยผ่านการจัดกิจกรรมวิชาการ ทั้งการประชุมสัมมนา การวิจัย การเผยแพร่ การฝึกอบรม รวมถึงการร่วมจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ องค์ความรู้และการพัฒนาบุคลากรดังกล่าว จะยังประโยชน์สูงสุดต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้า พัฒนาการลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือทางวิชาการของประเทศไทย ในการนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันที่มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับประเทศรัสเซีย โดยมีการเปิดสอนภาษารัสเซียเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 และเปิดสอนด้านรัสเซียศึกษาในระดับปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2546 ปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งสองหลักสูตรรวมกันประมาณ 480 คน มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วประมาณ 120 คน

ด้วยสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2551 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2551 อนุมัติหลักการให้จัดตั้งศูนย์ศึกษารัสเซียและเครือรัฐเอกราช ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำผลงานที่ประจักษ์เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณจากมหาวิทยาลัยได้ในระยะเวลาต่อๆไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยท่านอธิการบดี ศาสตตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์มีนโยบายที่จะสานต่อมติของสภามหาวิทยาลัยที่ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษารัสเซียและเครือรัฐเอกราชขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยให้มีฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุมัติจัดตั้ง จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ศึกษารัสเซียและเครือรัฐเอกราชโดยมีนายกสภามหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร) และอธิการบดี (ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์) เป็นที่ปรึกษา มีรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์เป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นควรให้มีการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อจัดให้มีการดำเนินงานของศูนย์ศึกษารัสเซียฯ และมีผลงานปรากฎเป็นที่ประจักษ์ อันเป็นการดำเนินงานในเชิงร และเพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของไทย-รัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2555 เป็นปีครบรอบ 115 ปีความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย